ถนนที่ชื่อหมอสมิท
Item
ชื่อเรื่อง
ถนนที่ชื่อหมอสมิท
ประเภท
บทความ
ผู้แต่ง
ปริญญา ตรีน้อยใส
วันที่
2565-11-29
รายละเอียด
ไม่น่าจะมีใครรู้จักถนนชื่อ หมอสมิท ในกรุงเทพฯไม่น่าจะมีใครรู้ว่า ถนนหมอสมิท อยู่ที่ไหนด้วยเหตุที่ว่า ถนนหมอสมิท เป็นชื่อถนนในอดีต ชื่อปัจจุบันคือ ซอยมไหศวรรย์ 6 เนื่องจากเป็นแนวเดียวกับถนนมไหสวรรย์ ทางหลักขึ้นลงสะพานกรุงเทพฯ ที่แยกจากถนนเจริญกรุง ถัดจากซอยเจริญกรุง 80 ไปทางใต้ ลอดใต้สะพานพระรามที่ 3 ที่คู่ขนานกับสะพานกรุงเทพฯ เดิม ไปจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา แนวซอยมไหศวรรย์ 6 นั้น ในแผนที่ประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ พ.ศ.2439 จะระบุว่า ถนนหมอสมิท คู่ขนานกับตอนปลายของถนนเจริญกรุง ไปถึงแม่น้ำเจ้าพระยา จากการศึกษาพบว่า ผู้คนเรียกขานถนนสายนี้ ตามชื่อหมอสมิท ผู้เป็นเจ้าของโรงพิมพ์ที่ตั้งอยู่สุดทาง หมอสมิท หรือ แซมมวล จอห์น สมิท (Samuel John Smith) มีบิดาเป็นชาวอังกฤษ ส่วนมารดาเป็นโปรตุเกส เกิดเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2363 ที่อินเดีย เมื่ออายุ 12 ปี เดินทางมาสยามพร้อมบิดามารดา ต่อมาเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา และสมัครใจเป็นหมอสอนคริสต์ศาสนา นิกายแบ๊พติสต์ ก่อนเดินทางกลับมาเผยแผ่ศาสนกิจในสยามประเทศ เพื่อให้คนไทยรู้จักคริสต์ศาสนามากขึ้น หมอสมิทได้จัดตั้งโรงพิมพ์พระคัมภีร์ขึ้น ที่ตำบลบางคอแหลม นอกจากจะพิมพ์พระคัมภีร์แล้ว หมอสมิทยังรับจ้างพิมพ์ประกาศต่างๆ รวมทั้งพิมพ์หนังสือจำหน่าย โดยอาศัยต้นฉบับเรื่องราวที่อยู่ในสมุดข่อย สมุดไทย หรือใบลาน ที่หมอสมิทได้มาจากชาวบ้าน พระสงฆ์ หรือขุนนางชั้นสูง เช่น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ โดยนำมาเรียบเรียง และจัดพิมพ์เป็นหนังสือแบบตะวันตกทำให้ผู้คนเรียกขานกันว่า สมุดฝรั่ง หรือหนังสือฝรั่ง หนังสือฝรั่งของหมอสมิท ที่จำหน่ายในราคาเล่มละสลึงนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องประโลมโลก สนุกสนานเพลิดเพลิน จึงได้รับความนิยมอย่างมาก เรื่องที่โด่งดังที่สุดคือ พระอภัยมณี ของสุนทรภู่ ที่แยกพิมพ์เป็นหลายๆ สิบเล่ม จนเป็นที่ร่ำลือกันว่า ผู้พิมพ์จำหน่ายร่ำรวยขึ้นทันตาเห็น ทำให้เกิดโรงพิมพ์ขึ้นอีกมากมาย ทั้งที่เป็นของฝรั่ง ไทย และจีน จนหมอสมิท เปลี่ยนอาชีพไปสั่งแท่นพิมพ์จากยุโรปเข้ามาจำหน่าย ในปี พ.ศ.2411 หมอสมิท และหมอแอนดรู (Thomas S. Andrew) ร่วมกันออกหนังสือพิมพ์รายวัน เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านั้น แม้จะมีการออกหนังสือพิมพ์กันบ้างแล้ว แต่จะเป็นการออกหลายวันต่อฉบับ ในขณะที่หนังสือพิมพ์ Siam Daily Advertiser จะออกทุกวัน เพื่อรายงานข่าวสำคัญ คือ เรือเข้าเรือออกพระนคร นอกจากนั้น มีประกาศจำหน่ายสินค้าของห้างร้านต่างๆ รวมทั้งข่าวคนตาย ข่าวบุคคลสำคัญ หรือชาวต่างประเทศที่เข้ามายังประเทศไทย และข่าวพิธีทางคริสต์ศาสนา ในระยะแรกนั้น พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ ต่อมาจึงได้มีการพิมพ์เป็นภาษาไทยควบคู่กันไป จำนวนพิมพ์จำหน่ายในเวลานั้น อยู่ที่ 200-300 ฉบับต่อวัน เพื่อจะรายงานเรือที่กำลังเดินทางผ่านไปเทียบท่าพระนคร หมอสมิทจึงตั้งโรงพิมพ์ขึ้นบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงคุ้งน้ำบางคอแหลม ซึ่งเป็นที่มาของ ถนน (โรงพิมพ์) หมอสมิท ที่หายไป
ที่มา: ปริญญา ตรีน้อยใส. (2565, 1-7 เมษายน). มองบ้านมองเมือง: ถนนที่ชื่อหมอสมิท. มติชนสุดสัปดาห์, 39.
ที่มา: ปริญญา ตรีน้อยใส. (2565, 1-7 เมษายน). มองบ้านมองเมือง: ถนนที่ชื่อหมอสมิท. มติชนสุดสัปดาห์, 39.
รูปแบบ
application/pdf
ภาษา
tha
สำนักพิมพ์
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ
หัวเรื่อง
ถนนหมอสมิท
ซอยมไหศวรรย์ 6
แซมมวล จอห์น สมิท (Samuel John Smith)
โรงพิมพ์หมอสมิท
สิ่งก่อสร้างและสถานที่
คอลเลกชั่น
ปริญญา ตรีน้อยใส .ถนนที่ชื่อหมอสมิท. มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ, คลังข้อมูลดิจิทัล สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ, accessed November 23, 2024, http://202.29.54.157/s/library/item/2527